[Revit] การเขียนผนัง…เราควรเขียนด้วยวิธีและเทคนิคใดดี ???

เรื่องเล็กๆ แต่ก็ไม่เล็กเท่าไหร่กับการจะเขียนผนังด้วยวิธีใดและเทคนิคใดดี…อันสืบเนื่องมาจาก Autodesk Revit มันก็ดันเขียนได้หลายวิธีซะด้วย เลยลองเอามาให้ดูกันสัก 3 วิธี และถอดปริมาณวัสดุออกมาให้ดูด้วยเลยว่ามันต่างกันอย่างไร โดยตัวอย่างทั้งสามจะเป็นการเขียนผนังก่ออิฐฉาบปูน ยาว 5 เมตร สูง 4 เมตร โดยมีผนังด้านหนึ่งที่ฉาบสูงเท่าความสูงผนัง กับอีกด้านหนึ่งฉาบสูงแค่ 3 เมตร ซึ่งทั้ง 3 วิธี มีดังนี้

1. วิธีที่ 1 ใช้ Basic Wall และตั้งค่าผนังให้มี 3 Layers คืออิฐ และก็ฉาบ ส่วนการตั้งค่าฉาบอีกด้านก็จะไปตั้งค่าของ Top Extension Distance เพื่อให้ฉาบอีกด้านสูง 3 เมตร (วิธีนี้จะทำให้เราสามารถเขียนผนังได้ด้วยการลากทีเดียว)
2. วิธีที่ 2 ใช้ Basic Wall 2 ออกมาเป็น 2 ประเภท คือ อิฐ กับ ฉาบ โดยการเขียนจะเขียน 3 ครั้ง คือ เขียนอิฐและเขียนฉาบแยกจากกัน และกำหนดความสูงของฉาบด้านหนึ่งให้สูง 3 เมตร (วิธีนี้ออกจะลำบากซักหน่อย เขียนถึงสามครั้ง)
3. วิธีที่ 3 ใช้ Stack Wall โดยการเอา Basic Wall 2 ประเภทมาผสมกัน โดยส่วนล่างเป็นก่ออิฐฉาบปูนสูง 3 เมตร และสูงจาก 3 เมตรถึงไปถึง 4 เมตรก็จะเป็นผนังก่อิฐแบบฉาบด้านเดียว(วิธีนี้จะทำให้เราสามารถเขียนผนังได้ด้วยการลากทีเดียว)

ที่นี้มาดูผลที่เกิดขึ้นในการถอดปริมาณวัสดุด้วยคำสั่ง Material Take off เพื่อมาเทียบกันดูว่าทั้งสามวิธีต่างกันอย่างไรครับ
ผลสรุปออกมาชัดเจนครับว่าทั้งสามวิธีได้ปริมาณวัสดุในภาพรวมเท่ากันหมด แต่รายการจะไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง โดย
1. วิธีที่ 1 ผนังมี 3 ชั้นวัสดุ แต่การถอดปริมาณออกมาจะมี 2 รายการ โดยฉาบสองฝั่งจะถูกรวมค่ากันออกมาเลย (ในแง่การถอดปริมาณก็อาจจะแยกไม่ออกว่าฉาบแต่ละด้านมีพื้นที่เท่าไหร่ แต่ถ้าหวังแค่ผลรวมก็ถือว่าใช้ได้เช่นกัน)
2. วิธีที่ 2 ผนังมี 3 ชั้นวัสดุ ปริมาณก็ออกมา 3 รายการ เพราะเขียนแยกชิ้น ปริมาณก็เลยแยกรายการ แต่เขียนเหนื่อยไม่ใช่น้อย เพราะไม่ใช่แค่เขียน 3 ครั้งเท่านั้น มันจะต้องมา Join กันด้วยอีก ไม่งั้นใส่ประตูหน้าต่างมีวุ่นวายแน่
3. วิธีที่ 3 ผนังมี 3 ชั้นวัสดุ ปริมาณออกมามี 4 รายการ เพราะมันเหมือนกับการใช้วิธีที่ 1 มาใช้ในการคิด (ในแง่การถอดปริมาณในภาพรวมวิธีนี้ก็เหมือนวิธีที่ 1 แต่ข้อดีของวิธีนี้ ก็ทำให้เราลดจำนวนประเภทของผนังลงได้ เพราะใช้วิธีการเอา Basic Wall มาผสมกันให้เกิดประเภทใหม่)

เขียนมาซะยาว..เอาเข้าจริงๆ ก็เขียนวิธีไหนก็ได้ครับ ขึ้นกับวัตถุประสงค์ที่เราต้องการเสียมากกว่า เช่น งานประเภทต้องการความละเอียด LOD400 ก็อาจจะเลือกใช้วิธีที่ 2, งานประเภท LOD 200 300 ก็อาจจะใช้วิธีที่ 1 หรือ 3 หรือผมก็พบว่าบางโครงการก็ใช้วิธีทั้งสามแบบผสมกันเลย…บางงานก็พบเจอวิธีแปลกๆ กว่านี้อีก เช่น การใช้คำสั่ง Paint มาคิดวัสดุ ทั้งที่จริงๆ มันเอาไว้เป็นเรื่องทาสี….งงดีจัง

เอาเป็นว่าเทคนิคง่ายๆ ว่าใช้วิธีไหนดีและเหมาะสม ก็ดูข้อมูลที่ออกมาแล้วกันครับว่ามันใช่แบบที่เราต้องการไหมนั่นเอง เพราะเราทำ BIM…หากโมเดลถูกอย่างเดียว แต่ข้อมูลออกมาผิดก็ไม่ใช่แน่

error: Content is protected !!